ดูแล

ดูแล

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

6 ปัญหาสุขภาพ ที่พบแล้วควรรีบพาแมวไปหาคุณหมอ


        หลายคนที่เคยเลี้ยงแมวน่าจะเคยสงสัยว่าทำไมแมวที่เราเลี้ยงนั้นดูแข็งแรง ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงมานอกจากพาไปทำวัคซีนกับถ่ายพยาธิแล้วแมวบางตัวแทบไม่เคยเห็นมีปัญหาอะไร ส่วนหนึ่งนั่นเพราะอุปนิสัยของแมวด้วยครับ เนื่องจากแมวส่วนใหญ่นอนเฉลี่ยแล้วมากถึง10-15ชม.(นอนเยอะ เคลื่อนไหวน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยได้ยากขึ้น ไม่เหมือนสุนัข วิ่งเล่น มุดนู่นมุดนี่ เผลอปุ๊บวิ่งออกไปข้างนอก จับไม่ทัน ไม่ยอมเข้าบ้าน เลียทุกสิ่ง กินทุกอย่าง บลาๆๆ เลยทำให้ป่วยได้ง่าย)      

         ถึงแม้ว่าแมวของเราจะดูแข็งแรงมาโดยตลอด แต่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างครับที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบพาไปรักษาทันที จากประสบการณ์ในการรักษาของผม มีอยู่ 6 ปัญหา ที่ควรระวังไว้ เพราะปัญหาเหล่านี้ถ้าปล่อยไว้นานๆอาจทำให้เกิดอันตรายแก่เจ้าเหมียว รับรองว่าเนื้อหาครั้งนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้เลี้ยงแมวทุกคนแน่นอนครับ


1."อาเจียน" สัญญาณเริ่มต้นของการป่วย

       น้องแมวอ๊วก! หรืออาเจียนนั้น เป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในแมว และเหมือนเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการป่วยหลายๆโรค โดยสาเหตุอาจเกิดจากแมวกินของบางอย่างที่ไม่ควรทานเข้าไป เช่น เชือก ซึ่งอาจมาจากของเล่นแมว หรือคอนโดแมวของเราเอง  บางครั้งอาจได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกาย เพราะความไม่ระวังของผู้เลี้ยง ยกตัวอย่างเช่น ขณะทำความสะอาดพื้น แต่เผลอล้างน้ำยาทำความสะอาดออกไม่หมด เมื่อแมวไปเลียเลยทำให้อาเจียนได้  หรือเป็นที่พฤติกรรมของแมวเอง เช่นกินเร็ว กินมากเกินไป ชอบทานน้ำจากแหล่งไม่สะอาด  และชอบเลียขนบ่อยๆ ทุกอย่างที่เล่ามาล้วนเป็นสาเหตุทำให้แมวอาเจียนได้หมดเลยครับ
       ถ้าพบว่าแมวของเรามีอาการนี้เมื่อไหร่ ให้คิดล่วงหน้าว่าน้องเหมียวคงเริ่มไม่สบาย เพราะการอาเจียนอาจบ่งบอกว่าแมวเพิ่งติดเชื้อ หรือเริ่มป่วยในระยะเบื้องต้น  บางครั้งแมวที่อายุมากๆที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต นั้นอาจทำให้มีการอาเจียนได้เหมือนกัน  การอาเจียนบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายของน้องแมวขาดน้ำอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นแมวอาเจียนวันหนึ่งเกิน 3-4รอบ โดยเฉพาะในลูกแมว คงไม่ต้องคิดอะไรแล้ว....รีบพาไปหาคุณหมอเถอะครับ (เพราะการระงับอาเจียน ส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยการให้ยาเท่านั้น!!)  ลูกแมวที่อาเจียนหนักๆอาจป่วยหรือติดเชื้อรุนแรงอยู่ เช่นโรคไข้หัดแมว หรือลำไส้อักเสบ
         ถ้าเป็นไปได้เจ้าของควรเก็บตัวอย่างที่เค้าสำรอกออกมานำไปให้คุณหมอตรวจด้วย จะได้ย่นระยะเวลาในการรักษาให้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าพบภาวะอาเจียนในแมวที่โตแล้ว เจ้าของอาจลองสังเกตอาการสัก1-2 วัน  แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปหาคุณหมอรักษาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ


                                                                          
                                   
         
2."หมัดแมว" ภัยร้ายจากเจ้าตั๋วจิ๋วที่ไม่ธรรมดา

              หมัดก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในแมว ซึ่งเจอได้ตลอดทั้งปีแต่อาจเจอได้บ่อยขึ้นในช่วงฤดูฝน และอากาศร้อนชื้น  ยิ่งสภาพอากาศของบ้านเราที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตกเลยทำให้หมัดขยายจำนวนได้ง่าย   โชคดีหน่อยครับเพราะถึงแม้แมวจะติดหมัดได้ง่าย แต่การรักษาหมัดก็ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยากเท่าไรด้วย โดยเบื้องต้น ถ้าน้องแมวมีอาการเหล่านี้ ให้สงสัยก่อนเลยว่าแมวของเราอาจจะติดหมัดแล้ว ตามนี้เลย

                -เห็นจุดดำๆบนผิวหนังหรือแทรกตามระว่างขน      -รู้สึกว่าน้องแมวเกาบ่อยขึ้น เลียตัวบ่อยขึ้น
                -ผิวหนังบางจุดเริ่มมีผื่นแดง ขนเริ่มร่วง                -ผิวหนังเริ่มอักเสบ เริ่มลอกตกสะเก็ด




              ปัญหาเรื่องหมัดเจ้าของบางท่านอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้วถือว่าน้องแมวเริ่มมีปัญหาแล้วนะครับ เพราะการที่แมวของเราเริ่มมีหมัดขึ้นตามตัวนั้น แสดงว่าแมวเริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลง เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า หมัดนั้น มันขึ้นมาเกาะอาศัยน้องแมวเพื่อ "ดูดเลือด" ยิ่งถ้ามีหมัดมากๆ แมวของเราก็จะอ่อนแอ และป่วยง่ายขึ้น อาจถึงขึ้นเป็น "โรคโลหิตจาง" ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้น้องแมวเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้    ดังนั้นแล้ว เจ้าของแมวทุกคนควรเน้นการป้องกันไม่ให้มีหมัดเกิดขึ้น นั่นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคอันตรายต่างๆตามมา การป้องกันง่ายๆเลยคือซื้อพวกยาหยอดหลังที่มีอยู่มากมายตามท้องตลาด(ห้ามใช้ยาปลอมนะ) หรือในรูปแบบยากิน  ควบคู่กับการใช้เวชภัณฑ์ทาภายนอกด้วยเช่น แชมพูป้องกันหมัด หรือแป้งป้องกันหมัดก็ได้ครับ





3."พยาธิตัวตืด" มาม่าเจ้าปัญหาในลำไส้เล็ก
           พยาธิในแมวมีอยู่หลายชนิดครับ แต่มีอยู่หนึ่งชนิดที่อันตรายมากนั่นคือ พยาธิตัวตืด และเป็นพยาธิที่ผมคิดว่าหน้าตาน่าเกลียดที่สุดด้วย ถ้านึกหน้าตาไม่ออกลองดูภาพด้านบน หน้าตาคล้ายเส้นมาม่านั่นแหละครับ พยาธิชนิดนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งต่อการป่วยของน้องแมว  โดยอาการป่วยของแมวที่มีพยาธิปกติแล้วอาจจะไม่ค่อยเด่นชัด แต่ที่สังเกตเห็นได้บ่อยคือ อาเจียนบ่อยขึ้นและน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว  และเริ่มมีการไถก้น เราอาจพบร่องรอยของพยาธิได้ในอุจจาระเช่น มีเลือดปะปน หรือจุดขาวๆคล้ายเมล็ดข้าว บางครั้งอาจมีตัวพยาธิออกมาให้เห็นกันจะๆเลย(Oh my GOd!)

          ส่วนการรักษานั้นทำได้หลายวิธีครับ เช่นพาแมวไปหาคุณหมอเพื่อป้อนยาถ่ายพยาธิ หรือใช้ยาหยอดหลังบางชนิดทีมีคุณสมบัติป้องกันพยาธิได้ เราควรให้ยาป้องกันทุก 3 -6 เดือน การมีพยาธินั้นมักพบในแมวที่เจ้าของปล่อยออกไปนอกบ้านเป็นประจำซึ่งแมวอาจติดพยาธิจากการไปวิ่งเหยียบดิน เหยียบหญ้า หรือกินน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้แมวมีพยาธิ นั่นคือ "คือน้องแมวเผลอกินหมัดเข้าไป!!" ใช่แล้วครับ ไม่ต้องตกใจไป  เจ้าของอาจสงสัยว่าแล้วแมวของเรากินหมัดเข้าไปตอนไหน  ก็ตอนที่ไปกัดหรือเลียขนบริเวณจุดที่หมัดอาศัยอยู่ยังไงล่ะ หมัดบางชนิดจะมีเชื้อหรือตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้อยู่ดังนั้น น้องๆจึงควรป้องกันทั้งพยาธิและหมัดไปพร้อมๆกันจะดีที่สุดครับ





4."ท้องเสีย" อีกหนึ่งภัยร้ายที่เกิดขึ้นได้ง่าย

            นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เจ้าของแมวทุกคนกลุ้มใจและกังวลมาก เพราะการท้องเสียนั้นบอกได้ชัดเจนที่สุดเลยครับว่าตอนนี้แมวของเราเริ่มมีปัญหาแล้วนะ อาจติดเชื้อโรค มีแนวโน้มป่วยแล้วค่อนข้างมาก มีหลายสาเหตุครับที่ทำให้เกิดภาวะท้องเสียในแมว อาจมาจากการเปลี่ยนชนิดอาหารเม็ดในทันที ให้ทานอาหารเปียก ทานนมวัว  การเลียเอาขนเข้าร่างกายมากจนเกินไป  หรือแพ้อาหารประเภทเนื้อสัตว์  หรือเพราะเจ้าของปล่อยแมวไปวิ่งเล่นข้างนอก น้องแมวอาจได้รับเชื้อโรคจากการที่เท้าสัมผัสพื้นดิน  พื้นปูน หญ้าและ ทราย  บางครั้งถ้าพบว่าท้องเสียบ่อยโดยไม่มีสาเหตุในแมวอายุมาก อาจเกี่ยวข้องกับภาวะโรคตับหรือโรคมะเร็งเข้ามาเกี่ยวข้องได้  ที่สำคัญเจ้าของควรแยกให้ออกด้วยนะครับว่าแมวท้องเสียจริงๆ โดยดูที่ปริมาณความถี่และลักษณะอุจจาระ(ถ้าในหนึ่งวัน ถ่ายเกิน5-6ครั้ง แสดงว่าแนวโน้มท้องเสียมีสูงครับ)

               โดยทั่วไปอาการที่พบได้ คือ น้องแมวมีอาการซูบผอม ดูไม่มีแรง ขาดน้ำ ซึ่งจะเป็นหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการท้องเสียด้วยว่าเป็นแค่ไม่กี่วัน สัปดาห์ หรือนานถึงเดือน  วิธีการป้องกัน ถ้าพบว่าแมวเริ่มถ่ายเหลว หรือท้องเสียขึ้นมาเมื่อไร อันดับแรกที่ควรทำคือ หยุดให้กินอาหาร ประมาณ 12- 24 ชั่วโมง อาจให้ทานน้ำได้เล็กน้อยเพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ และให้อยู่ในที่ปลอดโปร่ง  ถ้าสาเหตุที่ท้องเสียไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกี่ยวข้องกับการให้อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ น้องแมวอาจจะหายได้เองภายใน1-2 วัน แต่ถ้าสังเกตแล้วยังไม่ดีขึ้น แล้วพบอาการป่วยเพิ่มขึ้นอีกเช่น  อาเจียน อุจจาระเริ่มเป็นสีดำ มีเลือดปะปน มีกลิ่นคาวและเหม็นกว่าเดิม เจ้าของควรรีบพาไปหาคุณหมอจะดีที่สุดเพื่อให้คุณหมอรีบรักษา น้องแมวจะได้หายเป็นปกติเหมือนเดิมครับ





5.ปัญหา"ตาเจ็บ"  
          ปัญหาเรื่องตาของแมวนั้นมีเยอะมากครับ เช่น แผลที่กระจกตา เยื่อบุตาอักเสบ ลูกตาอักเสบ ซึ่งมักเกิดจากน้องแมวใช้เล็บตัวเองเกาที่ตาจนเป็นแผล หรือได้รับการกระแทกที่ตาอย่างรุนแรง    และยังมีโรคตาในแมวสูงอายุ เช่นโรคต้อหิน ต้อกระจก  หรืออาจเกิดปัญหาที่เจ้าของเองขาดความระมัดระวัง เช่น พาน้องแมวไปเล่นน้ำทะเล เกิดพลาดน้ำทะเลเข้าตาจนตาอักเสบ   การไม่ค่อยเช็ดขี้ตาให้น้องแมวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาติดเชื้อ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้เหมือนกัน   นอกจากนี้ แมวสายพันธ์ขนยาวมักมีปัญหาที่ตามากกว่าพันธ์ขนสั้น นั่นเพราะขนที่ยาวรอบๆตา ถ้าขนทิ่มเข้าไปบ่อยๆจะทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ตาอักเสบได้เหมือนกัน

                  เจ้าของทุกคนคงพอรู้สาเหตุคร่าวๆแล้วว่าทำไมถึงเกิดปัญหาขึ้นในตาของเจ้าเหมียว  ทางที่ดีถ้าเจอเมื่อไร ควรพาน้องแมวไปหาคุณหมอจะดีที่สุดครับ เพราะการรักษาเรื่องตาเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และทำเองค่อนข้างยาก





6.โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว Feline Lower Urinary Tract Diseases (FLUTD)

                  โรคนี้เจ้าของอาจไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่เคยได้ยินกันเท่าไร แต่เชื่อมั๊ยครับว่า มีน้องแมวถึง 10 % ที่ไปหาคุณหมอ แล้วพบว่าป่วยเป็นโรคนี้กัน โดยส่วนใหญ่มักพบในแมวที่มีน้ำหนักตัวมาก (แมวอ้วนนั่นแหละ) หรือเจ้าของเลี้ยงน้องแมวให้มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่นให้กินอาหารเม็ดที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ  ให้กินอาหารคนเป็นมื้อหลัก โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่นเนื้อสัตว์ เนื้อปลา  หรือเลี้ยงแมวกันหนาแน่นมากเกินไปจนทำให้เกิดความเครียด สิ่งเหล่านี้ทำให้แมวเป็นโรค (FLUTD) ได้นะครับ ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นและอาการของโรคนี้ด้วย
                 โดยอาการป่วยที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ คือ  "เบ่งตัวเวลาปัสสาวะ  ปัสสาวะมีเลือดปะปน  ปัสสาวะไม่ถูกที่บ่อยครั้ง(เหมือนน้องแมวคุมฉี่ตัวเองไม่ค่อยได้) หรือร้องเจ็บเวลาปัสสาวะทำให้บางที่น้องแมวจะ ไม่อยากฉี่เลย.....  บางทีจะเห็นน้องแมวเลียบริเวณนี้บ่อยมาก เพราะเจ็บหรือปวด  อาจมีอาการอย่างอื่นด้วยเช่น ซึม ทานน้ำน้อยลง ดูซูบผอม และอาเจียน "  ถ้าเจ้าของพบอาการเหล่านี้ถือว่าอันตรายมานะครับ โดยถ้าถึงขั้นน้องแมวไม่ฉี่เลย ถือว่าน้องแมวอยู่ในภาวะอันตรายแล้ว ควรรีบพาไปตรวจและ ให้คุณหมอวางแผนการรักษาจะดีที่สุดเลยครับ

                 ถือว่าจบไปแล้วนะครับสำหรับ 6 ปัญหาที่พบได้บ่อยในน้องแมว อยากฝากให้เจ้าของที่เลี้ยงแมวทุกคน ลองสังเกตพฤติกรรมของน้องแมวให้ดีๆนะครับ ถ้ามีอะไรที่คิดว่าน้องแมวกำลังป่วยอยู่ก็ลองหาข้อมูลดูก่อน หรืออาจจะสอบถามคุณหมอตามคลีนิคแถวบ้าน แต่บางอย่างถ้าไม่มั่นใจ ขอให้รีบพาไปหาคุณหมอให้เร็วที่สุดนะครับ


                                                                                                      หมอเป็ด เพ็ทนิสต้า
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น