ดูแล

ดูแล

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลัก 7 ข้อการกรูมมิ่งที่ผู้เลี้ยงทุกคนควรรู้




         

                      ผมคิดว่าการหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว คงเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะทุกวันนี้มีแหล่งขายสัตว์เลี้ยงมากมายให้คุณได้เลือก หรือไม่แน่คุณอาจได้มาฟรีๆ(โดยที่คุณตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) แล้วหลังจากที่เราได้พวกเค้ามาแล้วล่ะ คุณเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัว(ตัวนี้)ดีพอแล้วรึยัง
                      เริ่มแรกในการเลี้ยงนั้น นอกจากเจ้านายอย่างพวกคุณต้องให้น้ำ ให้อาหารแก่พวกเค้าแล้ว ความรักและความเอาใจใส่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ การดูแลสุขภาพของพวกเค้าเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณ เริ่มง่ายๆคือ การดูแลการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ศีรษะยันปลายเท้า หรือที่เราเรียกว่า "กรูมมิ่ง" นั่นเอง  ดังนั้นเนื้อหาในวันนี้ หมอเป็ดจะมาอธิบายถึงหลักสำคัญเกี่ยวกับการกรูมมิ่ง ว่าเจ้าของทุกคนต้องเตรียมตัวอย่างไร โดยมี  "7 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับเตรียมตัว "กรูมมิ่ง" รับรองว่ามีประโยชน์กับทุกท่านแน่นอนครับ



1.ก่อนจะกรูมมิ่ง แน่ใจรึยังว่าอุปกรณ์ที่ใช้น่ะ  ถูกต้องแล้ว...

                   การเลือกใช้อุปกรณ์กรูมมิ่งที่เหมาะสม นอกจากทำให้ขั้นตอนการดูแลง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้เลี้ยงรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับการกรูมมิ่ง (รวมถึงตัวสัตว์เลี้ยงเองด้วย) ดังนั้นก่อนเลือกใช้เครื่องมือใดๆ เราควรศึกษาหาข้อมูลกันนิดนึง เพราะปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์กรูมมิ่งมากมายเลยครับให้เราเลือกใช้กัน (หวีแปรงขนก็มีหลายรุ่น แปรงสีฟันหลายยี่ห้อ ที่ตัดเล็บหลายแบบ เยอะมากจริงๆ) ถ้าเราไม่มั่นใจ เราควรถามคนขายที่มีความรู้หรือให้สัตวแพทย์แนะนำ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยงของเราครับ



2."แปรงขน" กิจวัตรที่ควรทำทุกๆวัน

                     สิ่งสำคัญที่เจ้าของควรทำให้สัตว์เลี้ยงของเราทุกวัน นั่นคือ "การแปรงขนครับ" เพียงแค่ใช้เวลาวันละไม่กี่นาทีในการดูแลขนของพวกเค้าโดยการแปรง  นอกจากทำให้เส้นขนมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยขจัดสิ่งสกปรกและขนที่เสีย รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดขนพันกันอีกด้วย ข้อควรระวังคือ เมื่อเราแปรงขนแล้วเจอก้อนขนหรือส่วนที่ยุ่งเหยิงมากๆ "อย่าเพิ่งพยายามดึงมันออกมา" เพราะสัตว์อาจเจ็บและหลีกเลี่ยงไม่อยากแปรงขนเท่าไรนัก ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ เจ้าของควรพาไปหาช่างตัดขนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการเอาออกให้จะดีกว่า ที่สำคัญการแปรงขนจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงให้ดีมากยิ่งขึ้น พวกเค้าจะรู้สึกดีที่ขนสวยเงางามและรักคุณมากขึ้นอีกด้วยครับ


3.เพิ่มความสะอาดและความสุขได้ ด้วย"การอาบน้ำ"

                        การอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงของเรานั้น เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของควรรู้และควรทำให้กับพวกเค้าอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ขึ้้นอยู่กับชนิดสัตว์เลี้ยงและความยาวของขนด้วยครับ(ถ้าเป็นสุนัขควรอาบให้ทุกสัปดาห์ แต่ถ้าแมวนั้นอาบเดือนละครั้งยังได้เลย) การอาบน้ำนอกจากจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรก  ขจัดไขมันส่วนเกินและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไป ยังทำให้ผิวหนังมีสุขภาพดีและช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับพวกเค้าได้ด้วย ปัญหาที่หนักใจสำหรับเจ้าของบางคนคือ สัตว์เลี้ยงของตัวเองไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่ชอบอาบน้ำเลย ให้ตายสิ..... ถ้าเป็นแบบนี้เจ้าของควรรีบหาสาเหตุให้เจอ อาจเป็นเพราะเราอาบน้ำผิดวิธี หรือพวกเค้าเคยมีประสบการณ์จากการคันเพราะแพ้แชมพู หรือล้างออกไม่หมด  ถ้าเจ้าของอาบเองไม่ได้จริงๆควรพาไปอาบน้ำที่ร้านกรูมมิ่ง นั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ 


4."ตัดเล็บ" เพื่อความปลอดภัยของผู้เลี้ยงและตัวสัตว์เองด้วย

                           เจ้าของควรหมั่นสังเกตความความยาวเล็บให้เหมาะสมเพื่อช่วยหลีกเลียงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา(โดนหมาแมวข่วนเอาเนี่ยมันเจ็บนะ บอกไว้ก่อน)  รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ของคุณเองด้วย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่สาเหตุมาจากเล็บยาวจนเกินไป เช่น เล็บยาวจนทิ่มเนื้อตัวเอง เล็บขบ อาจเกิดบาดแผลเวลาเกา โดยเฉพาะที่ตา  และถ้าเราปล่อยเล็บยาวมากเกินไปจะทำให้หลุดง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้การตัดแต่งเล็บสัตว์เลี้ยงของคุณ ยังช่วยให้มีโอกาสตรวจดูเท้าของเขาเผื่อมีปัญหา เช่น เท้าบวม ฝ่าเท้าเริ่มแตกรวมถึงก้อนสังกะตังรอบๆฝ่าเท้า  แต่ถ้าไม่มั่นใจในการตัดเล็บควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงวิธีการตัดเล็บที่ปลอดภัยครับ



5."ช่องหู"สะอาด ลดโอกาสเป็นโรคหลายอย่างนะ

                     "ช่องหู" ก็เป็นอีกส่วนของร่างกายที่ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญในการดูแลเป็นพิเศษ  นอกจากการอาบน้ำ ตัดเล็บและแปรงขนให้กับสัตว์เลี้ยงของเราแล้ว "การเช็ดหูและการถอนขนในช่องหู" ถือว่ามีความสำคัญมาก (โดยเฉพาะในสุนัขบางพันธ์ เช่น ชิสุห์ พุดเดิ้ล)  เนื่องจากบริเวณในช่องหูเป็นจุดอับ และมีขนขึ้น ถ้าหากไม่ถอนและทำความสะอาดอยู่เป็นประจำจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะขนบริเวณหูนั้นเป็นแหล่งสะสมเห็บหมัดและเชื้อโรคเป็นอย่างดีเลยทีเดียว ที่สำคัญหากปล่อยไว้เรื่อยๆ โดยไม่ดูแลก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคช่องหูอักเสบได้อีกด้วย นอกจากนี้เราสามารถบอกได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูได้จากความสะอาดของช่องหูได้อีกเช่นกัน



6."แปรงฟัน" ป้องกันปัญหากลิ่นปากและลดคราบหินปูน 

                       เป็นเรื่องที่น่าตกใจครับ เพราะจากการที่ผมได้ซักถามข้อมูลจากผู้เลี้ยง หลายๆคนยังมีความเข้าใจผิดกันมาก  คือมีผู้เลี้ยง(ขอย้ำว่าส่วนใหญ่ด้วยครับ) คิดว่าไม่จำเป็นต้องแปรงฟันเลย เพราะให้กินแต่อาหารเม็ด ฟันจึงน่าจะแข็งแรงและไม่มีปัญหาอยู่แล้ว นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆเลยล่ะคับ   ความจริงแล้วเราควรแปรงฟันให้กับพวกเค้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีกลิ่นปากและโรคในช่องปากตามมาภายหลัง และควรเริ่มต้นฝึกการแปรงฟันตั้งแต่อายุน้อยๆเพื่อให้คุ้นเคย อาจปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการแปรงฟันที่ถูกต้องรวมถึงให้คุณหมอเลือกยาสีฟันที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง (แนะนำเพิ่มว่าควรแปรงฟันให้เค้าสัปดาห์ละหนึ่งครั้งครับ)



7.ทำให้พวกเค้าดูใหม่ด้วยการ "ตัดแต่งขน"

                       สุนัขบางสายพันธ์โดยเฉพาะพันธ์ขนยาว เช่น ยอร์คเชีย มอลทีส  ปอมเมอเรเนียน ชิสุห์หรือพุดเดิ้ล จำเป็นต้องตัดแต่งขนเพื่อความสวยงามและป้องกันปัญหาขนไม่พันกัน แต่ถ้าเป็นแมวบางพันธ์เช่น เปอร์เซีย ถ้าขนเริ่มยาวก็ควรเล็มออกเสีย นอกจากนี้การตัดขนยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีเห็บหรือหมัดอาศัยอยู่บนสัตว์เลี้ยงของเราด้วยครับ ที่สำคัญคือเจ้าของควรหาช่างตัดขนประจำตัวที่มั่นใจว่าสามารถตัดขนได้ถูกใจ และเพื่อความปลอดภัยต่อตัวสัตว์เอง พยายามอย่าเปลี่ยนช่างตัดขนบ่อยเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้สัตว์ไม่คุ้นเคยแล้วยังเกิดความเครียดได้อีกครับ


                          การกรูมมิ่งนั้นเราสามารถทำได้เองหรือพาไปร้านทีเชี่ยวชาญด้านกรูมมิ่งโดยตรง นอกจากจะช่วยให้เจ้าเหมียวกับเจ้าตูบของเราดูดีแล้ว สิ่งสำคัญที่พวกเค้าได้รับอีกคือ การมีสุขภาพทีดีทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิดได้อีกด้วย     รู้อย่างนี้แล้ว เจ้าของทุกคนควรใส่ใจเรื่องกรูมมิ่งให้กับพวกเค้ามากกว่านี้นะครับ 



                                                       หมอเป็ด เพ็ทนิสต้า                                                                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น